โพรไบโอติกกับประโยชน์ทางด้านสุขภาพ

16 ก.ค. 2567 10:14:37จำนวนผู้เข้าชม : 302 ครั้ง

ภก.ดร. วงศกร สุเชาว์อินทร์
สาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โพรไบโอติก (probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีชีวิตซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยปกติแล้วสามารถพบจุลินทรีย์ดังกล่าวได้ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนทางเดินอาหารที่จะทำหน้าที่ในกระบวนการย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร สังเคราะห์วิตามิน และป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ส่งผลให้เกิดภาวะสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ (normal flora)(1) รวมถึงมีประโยชน์ทางด้านสุขภาพในอีกหลายๆ ด้านจากงานวิจัยต่างๆ ปัจจุบันจึงมีการใช้โพรไบโอติกอย่างแพร่หลาย ทั้งในแง่ของการใช้เป็นยารักษาโรค เช่น ใช้ในการรักษาท้องเสียจากการติดเชื้อในเด็กหรือท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงการใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อคาดหวังประโยชน์ทางด้านสุขภาพต่างๆ

โพรไบโอติกประกอบไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดี ได้แก่ แบคทีเรียกลุ่ม Lactobacillus spp., Bifidobacterium spp. รวมถึงยีสต์ ได้แก่ Saccharomyces boulardii โดยอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักดองเป็นแหล่งของโพรไบโอติกชั้นดี เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ผักดอง กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกชนิดรับประทานทั้งในรูปแบบผง (powders) หรือบรรจุในแคปซูล (capsules) เม็ดเคี้ยว (chewable tablets) และในรูปแบบของเหลว หน่วยของโพรไบโอติกจะแสดงในรูป colony forming units (CFU) หรือหน่วยโคโลนี ซึ่งบ่งชี้ถึงจำนวนจุลินทรีย์ที่มีชีวิต โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วไปมักมีปริมาณของโพรไบโอติกตั้งแต่ 1 ถึง 10 billion CFU ต่อขนาดรับประทานต่อครั้ง(1) นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบทั้งโพรไบโอติกและพรีไบโอติก (prebiotics) โดยพรีไบโอติก คือ สารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น อินูลินและฟรุกโตโอลิโกแซ็คคาไรด์ ซึ่งเป็นอาหารสำหรับโพรไบโอติกที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ให้ดียิ่งขึ้นโดยผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกจะเรียกว่า ซินไบโอติก (synbiotics)(2)


                โพรไบโอติกสามารถยับยั้งเชื้อจุลชีพชนิดก่อโรค (pathogenic microorganisms) ในทางเดินอาหารได้ โดยกระตุ้นการสังเคราะห์มิวซิน (mucin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเมือกที่ทำหน้าที่ปกคลุมและปกป้องเซลล์เยื่อบุภายในลำไส้จากสิ่งแปลกปลอม กระตุ้นการสังเคราะห์ bacteriocin ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อก่อโรค รวมถึงสังเคราะห์ lactic acid ทำให้เกิดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อก่อโรค โพรไบโอติกยังกระตุ้นให้เกิดการดูดซึมสารอาหารจำพวกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม(2) และสังเคราะห์สารกลุ่ม short-chain fatty acid จากพรีไบโอติกในลำไส้ เช่น acetic acid, propionic acid และ butyric acid ที่มีการศึกษาถึงประโยชน์ต่อร่างกายทั้งในแง่ต้านการอักเสบ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ยับยั้งความอ้วน มีฤทธิ์ปกป้องหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบประสาท(3) อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของโพรไบโอติกนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิดด้วย(1)


                มีการศึกษาประโยชน์จากการใช้โพรไบโอติกในโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) พบว่า โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus rhamnosusหรือ Lactobacillus paracasei จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในเด็กได้ หากในช่วงที่มารดากำลังตั้งครรภ์จนถึงทารกตั้งแต่ช่วงหลังคลอด (prenatal จนถึง postnatal period) ได้รับโพรไบโอติก (4) นอกจากนี้ ยังพบว่าโพรไบโอติกสามารถลดความรุนแรงของอาการผิวหนังอักเสบในเด็กได้อีกด้วย(5) รวมถึงมีการศึกษาถึงประโยชน์ของการใช้ซินไบโอติกในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมวัวสำหรับเด็กที่มีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว (cow’s milk allergy) โดยการใช้ Bifidobacterium breve M16V เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทดแทนนมวัว สามารถปรับปรุงสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงลดอุบัติการณ์การติดเชื้อได้อีกด้วย(6)


                โพรไบโอติกมีประโยชน์ในการใช้รักษาท้องเสียแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อในเด็ก โดยสามารถลดระยะเวลาที่มีอาการท้องเสียลงได้ประมาณ 1 วัน(7) โดยสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ คือLactobacillus rhamnosus GG (LGG) ขนาดอย่างน้อย 1010CFUต่อวัน และสายพันธุ์ Saccharomyces boulardii ที่ขนาด 109-1010CFUต่อวันโดยใช้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน(8) นอกจากนี้ การใช้โพรไบโอติกสายพันธุ์ดังกล่าวภายในช่วง 2 วันแรกของการเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ (antibiotic-associated diarrhea) ได้ในเด็กและผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 18 ถึง 64 ปี(1) ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ Saccharomyces boulardii ที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาขนาด 250 มิลลิกรัม ในรูปแบบผงบรรจุในซองหรือแคปซูล และมีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันจากการติดเชื้อหรือท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ


                เนื่องจากระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง low-density lipoprotein (LDL) cholesterol เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงมีการศึกษาประโยชน์ของโพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus, สายพันธุ์ผสมระหว่าง Lactobacillus acidophilus ร่วมกับ Bifidobacterium lactis และสายพันธุ์ Lactobacillus plantarum ซึ่งพบว่าสามารถลด total cholesterol และ LDL cholesterol ได้อย่างมีนัยสำคัญ(9) รวมถึงการใช้โพรไบโอติกหลายสายพันธุ์ (multiple strains) ก็สามารถลดทั้ง total cholesterol และ LDL cholesterol ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(10) แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางคลินิกถึงประสิทธิผลของโพรไบโอติกในการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนยังให้ผลการศึกษาที่ไม่ชัดเจนนัก(1) บางการศึกษาพบว่าการใช้โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus ในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือมีภาวะอ้วนเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ถึง 6 เดือน สามารถลดน้ำหนัก และ/หรือไขมันในร่างกาย (body fat) ได้อย่างมีนัยสำคัญ(11) แต่เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวของผู้เข้าร่วมการศึกษา จึงจำเป็นต้องรอผลการศึกษาอื่นๆ ต่อไปที่มีการควบคุมปัจจัยที่รบกวนผลการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น


                ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโพรไบโอติกค่อนข้างมีความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้โพรไบโอติกมักไม่รุนแรง และส่วนใหญ่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เช่น เกิดแก๊ส เป็นต้น(1) แต่อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2023 ได้ออกคำเตือนถึงการใช้โพรไบโอติกในทารกที่คลอดก่อนกำหนด (preterm infants) เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ (12) รวมถึงควรเลี่ยงการใช้โพรไบโอติกในผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย (bacteremia) หรือเชื้อราในกระแสเลือด (fungemia) (13)


                การเลือกใช้โพรไบโอติกเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงสายพันธุ์ ขนาดและระยะเวลาในการใช้โพรไบโอติก รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับตามข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์และผลการศึกษาทางคลินิก นอกจากนี้ สภาวะในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกก็มีความสำคัญ จึงต้องตรวจสอบสภาวะในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จากบริษัทผู้ผลิตให้แน่ชัดว่าระบุให้จัดเก็บในตู้เย็นหรือที่อุณหภูมิห้อง เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงอายุการเก็บรักษา รวมถึงการใช้โพรไบโอติกก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการผสมโพรไบโอติกกับน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นก่อนรับประทาน เนื่องจากจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ตายได้

 


เอกสารอ้างอิง



  1. National Institutes of Health Office of Dietary Supplements. Probiotics: Fact sheet for health professionals [Internet]. Available from: https://ods.od.nih.gov/factsheets/Probiotics-HealthProfessional/

  2. World Gastroenterology Organisation Global Guidelines. Probiotics and prebiotics. February 2023.

  3. Xiong RG, Zhou DD, Wu SX, et al. Health Benefits and Side Effects of Short-Chain Fatty Acids. Foods. 2022;11(18):2863. 

  4. Li L, Han Z, Niu X, et al. Probiotic Supplementation for Prevention of Atopic Dermatitis in Infants and Children: A Systematic Review and Meta-analysis. Am J Clin Dermatol. 2019;20(3):367-377. 

  5. Huang R, Ning H, Shen M, Li J, Zhang J, Chen X. Probiotics for the Treatment of Atopic Dermatitis in Children: A Systematic Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Front Cell Infect Microbiol. 2017;7:392. 

  6. Fox AT, Wopereis H, Van Ampting MTJ, et al. A specific synbiotic-containing amino acid-based formula in dietary management of cow's milk allergy: a randomized controlled trial. Clin Transl Allergy. 2019;9:5. 

  7. Allen SJ, Martinez EG, Gregorio GV, Dans LF. Probiotics for treating acute infectious diarrhoea. Cochrane Database Syst Rev. 2010;2010(11):CD003048.

  8. Szajewska H, Guarino A, Hojsak I, et al. Use of probiotics for management of acute gastroenteritis: a position paper by the ESPGHAN Working Group for Probiotics and Prebiotics. J Pediatr Gastroenterol Nutr. 2014;58(4):531-539.

  9. Cho YA, Kim J. Effect of Probiotics on Blood Lipid Concentrations: A Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Medicine (Baltimore). 2015;94(43):e1714. 

  10. Sun J, Buys N. Effects of probiotics consumption on lowering lipids and CVD risk factors: a systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Ann Med. 2015;47(6):430-440.

  11. Crovesy L, Ostrowski M, Ferreira DMTP, Rosado EL, Soares-Mota M. Effect of Lactobacillus on body weight and body fat in overweight subjects: a systematic review of randomized controlled clinical trials. Int J Obes (Lond). 2017;41(11):1607-1614.

  12. U.S. Food and Drug Administration. FDA Raises Concerns About Probiotic Products Sold for Use in Hospitalized Preterm Infants[Internet]. Available from: https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/fda-raises-concerns-about-probiotic-products-sold-use-hospitalized-preterm-infants

  13. Didari T, Solki S, Mozaffari S, Nikfar S, Abdollahi M. A systematic review of the safety of probiotics. Expert Opin Drug Saf. 2014;13(2):227-239.