มารู้จักเนื้องอกต่อมไทมัสที่คนไทยมีโอกาสเป็นหนึ่งในล้าน

16 ก.ย. 2567 14:57:28จำนวนผู้เข้าชม : 147 ครั้ง

ผศ.นพ. ศิระ เลาหทัย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์
ทรวงอกเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องในช่องทรวงอก
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

เนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัส เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์บนพื้นผิวของต่อมไทมัส (ต่อมไทมัสนั้นเป็นต่อมที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของบุคคล เนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัส เป็นเนื้องอกค่อนข้างหายาก และมะเร็งชนิดนี้มักเกิดขึ้นบริเวณต่อมไทมัสโดยอุบัติการณ์เกิดในคนไทยจะมีโอกาสเกิดขึ้นใน 1 ในล้านคน


ผศ.นพ. ศิระ เลาหทัย ศัลยแพทย์ทรวงอก จากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า เนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัสส่วนใหญ่เติบโตช้า และมีเพียงไม่กี่รายที่ลุกลามออกนอกต่อมไทมัส ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาบางคนจำแนกมะเร็งต่อมไทมัสว่าเป็นมะเร็ง (ร้ายแรง) หรือเนื้องอก (ไม่ร้ายแรง) ได้ยาก ซึ่งวิธีการรักษาทั้ง 2 ชนิดเหมือนกับมะเร็ง อัตราการรอดชีวิตหลังผ่าตัดนั้นค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการวินิจฉัยเนื้องอกในระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านทรวงอก


โดยผู้ป่วยโรคของเนื้องอกต่อมไทมัสนั้น อาการส่วนใหญ่มักจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก เนื่องจากเนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัสนั้นเกิดขึ้นที่หน้าอก อาการที่เกิดขึ้นอาจได้แก่ หายใจลำบาก ไอแห้งเรื้อรังหรือเจ็บหน้าอก บางรายหลายคนอาจตามมาด้วยอาการมองเห็นภาพซ้อน หรือกลืนลำบาก หรืออ่อนเพลีย เนื่องจากเนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัสมักสัมพันธ์กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis:MG) สิ่งสำคัญคือ เราต้องทราบว่าเนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัสนั้นจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกันไป ในความเป็นจริงในขณะที่ผู้ป่วยต่อมไทมัสบางรายมีอาการหลากหลาย แต่บางรายก็ไม่มีอาการ หรือพบเจอโดยบังเอิญได้


ส่วนการวินิจฉัยเนื้องอกชนิดนี้นั้น โดยปกติต้องใช้การทดสอบหลายอย่าง เช่น การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หากผลการทดสอบภาพเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามีเนื้องอกหรือมีสิทธิ์เป็นชิ้นเนื้อมะเร็งต่อมไทมัส ขั้นตอนต่อไปอาจเป็นการทำชิ้นเนื้อ หลังจากที่แพทย์เอาชิ้นเนื้อขนาดเล็กของเนื้องอกออก (หรือในบางกรณีคือเนื้องอกออกทั้งหมด) นักพยาธิวิทยาจะตรวจชิ้นเนื้อนั้นภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อพิจารณาว่าเซลล์เป็นมะเร็งหรือไม่ การรักษาเนื้องอก หรือมะเร็งต่อมไทมัสนั้น มักเกี่ยวข้องกับการรวมวิธีการต่อไปนี้ : การผ่าตัด เคมีบำบัด รวมไปถึงการฉายรังสี โดยแผนการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของมะเร็ง ขนาดของเนื้องอก และอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เป็นปัจจัยในการตัดสินใจเพื่อเลือกวิธีการรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัยที่สุด


โดยปัจจุบันการผ่าตัดต่อมไทมัสสามารถทำการผ่าตัดได้ด้วยการส่องกล้อง ( Video assisted thoracoscopic surgery; VATS thymectomy) โดยมีแผลผ่าตัดเพียงจุดเดียว ขนาด 3 เซนติเมตร บริเวณข้างลำตัว ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องนี้เป็นนวัตกรรมรูปแบบการรักษาสมัยใหม่ในการรักษา วิธีการรักษาด้วยการส่องกล้องทำให้ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมไทมัสมีระยะเวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นกว่าและมีสภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายน้อยกว่า ทั้งนี้ การผ่าตัดเนื้องอกหรือมะเร็งต่อมไทมัสจะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง