ทำ IVF ได้ไหม ถ้าโควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

22 ต.ค. 2563 10:05:08จำนวนผู้เข้าชม : 739 ครั้ง

หยุดใกล้ชิดกัน ต้องหยุดความสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ ? หลาย ๆ ครอบครัวที่วางแผนว่าจะมีลูกในปีนี้ คงเป็นกังวลและเกิดข้อสงสัยว่าต้องรอนานเท่าไรถึงจะมั่นใจว่าตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

          พญ.พาวรรณลิ้มวรพิทักษ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยาวนานกว่าครึ่งปี ส่งผลต่อความมั่นใจในการตัดสินใจวางแผนมีลูกของหลาย ๆ ครอบครัว ทั้งในเรื่องของความกังวลใจในความร้ายแรงของเชื้อที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ ความพร้อมของสุขภาพคุณแม่ที่ต้องเตรียมพร้อมให้แข็งแรงมากเป็นพิเศษ ความสะดวกในการเดินทางไปพบแพทย์ระหว่างตั้งครรภ์ และอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้หลายครอบครัวต้องพับโครงการมีลูกจนกว่าจะมีวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 เลยทีเดียว

อยากมีลูก ต้องรอมีวัคซีนโรคโควิด-19 ก่อน จริงหรือ?
          “ที่ผ่านมา ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศยังไม่มีรายงานทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์มากไปกว่าคนทั่วไป สำหรับในต่างประเทศมีเคสคนไข้หญิงมีครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่ได้แสดงอาการในระดับที่รุนแรงต่างจากคนกลุ่มอื่น คือ มีการไอ มีไข้ หายใจติดขัด ปวดศีรษะ  ไม่รับรู้กลิ่นแต่สามารถหายและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ดังนั้น การตั้งครรภ์ในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือเสี่ยงต่อความปลอดภัยของทารกอย่างที่หลายคนกังวล”
          เรียกได้ว่าช่วงเวลานี้ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับหลาย ๆ ครอบครัวที่ต้องการมีลูก เพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นจากการ Work from Home หรือทำงานที่บ้าน แม้จะต้อง Social Distancing กับคนนอกบ้าน แต่มีเวลากระชับความสัมพันธ์กับคนในบ้านมากขึ้น ภาวะความเครียดจากการทำงานน้อยลง ไม่ต้องรีบเร่งในการเดินทาง สามารถจัดสรรเวลาทำอาหารและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คู่แม้จะมีเวลาให้กันมากขึ้น แต่การมีลูกไม่ใช่เรื่องง่าย จนเกิดความสงสัยว่าคู่ของตนอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า “มีบุตรยาก” หรือไม่

          ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้ที่มีบุตรยากด้วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ อย่างการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF - In Vitro Fertilization) การทำอิ๊กซี่ (ICSI - Intracytoplasmic Sperm Injection) อาจไม่ใช่คำตอบเดียว หากต้องการประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ เพราะแม้จะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่ก็ต้องอาศัยอีกองค์ประกอบที่สำคัญคือสุขภาพร่างกายของทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีความพร้อม และแข็งแรงมาจากภายใน
          ปัจจุบันมีการรักษาปัญหาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และใช้ศาสตร์หลายแขนงมาดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมของทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่ต้องการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการมีบุตรยาก การเรียนรู้วงจรตกไข่ การตรวจโรคทางพันธุกรรมที่อาจจะมีผลต่อบุตร ภาวะเสี่ยงอื่น ๆ รวมทั้งการเตรียมสุขภาพให้แข็งแรงจากภายในผ่านการดูแลเรื่องอาหาร วิตามินเสริม การใช้ยา และวัคซีนที่จำเป็นก่อนการตั้งครรภ์ ที่ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องดูแลทั้งผู้หญิงและผู้ชายไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร ให้ได้มากที่สุด