สนใจทำการตลาดผ่านสื่อและบริการของเราติดต่อ 0926516944 , 02 4243434, 02 434 3434
เมื่อถึงวันนั้นของเดือน สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงต้องพบเจอกันบ่อย ๆ เป็นประจำทุกเดือน คือ อาการปวดท้องน้อย ปวดมาก ปวดน้อย ก็แล้วแต่ราย ๆ ไป แต่จะรู้หรือไม่ว่า อาการปวดนี้อาจจะเป็นอาการ “ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” ได้เหมือนกัน
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis) เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก! ซึ่งอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก หรือในตำแหน่งอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน เช่น รังไข่ หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด และช่องเยื่อหุ้มปอด แต่ตำแหน่งที่มักพบความผิดปกติของภาวะนี้ได้บ่อย คือ รังไข่ กล้ามเนื้อมดลูกส่วนอาการนั้น บางรายเวลามีประจำเดือนแต่ละเดือนจะมามากและยาวนาน อาจจะมากกว่า 7 วัน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงถึงกับเป็นลมได้ หรือบางรายมีอาการปวดหน่วงลงทวารหนัก ปวดร้าวไปหลัง นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน และในกรณีที่รอยโรคอยู่ที่ลำไส้ตรงหรือกระเพาะปัสสาวะ ก็อาจพบเลือดออกทางทวารหนักหรือปัสสาวะเป็นเลือดได้ในช่วงที่มีประจำเดือน หรือเวลามีเพศสัมพันธ์จะปวดเจ็บบริเวณช่องคลอดขณะ/หรือหลังมีเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ ผู้หญิงวัยกลางคน และหญิงที่เคยมีบุตรแล้ว มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยสูติ-นรีแพทย์สามารถทำการซักประวัติอย่างละเอียด และทำการตรวจภายในและตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อให้เห็นรอยโรคได้ชัดเจนขึ้นและยังมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งช่วยให้สามารถตรวจค้นหารอยโรคได้แม่นยำกว่า นั่นคือ การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ในกรณีนี้จะเป็นการตรวจที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่สามารถค้นหารอยโรคได้ชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำ และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้สูติ-นรีแพทย์เลือกวิธีรักษาได้อย่างถูกต้องตรงจุด
ในการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้น สูติ-นรีแพทย์จะพิจารณาจากอาการ ความรุนแรง และประวัติของผู้ป่วย โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด โดยปัจจุบันมีการผ่าตัดส่องกล้องซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีข้อดีมากมาย เช่น ช่วยลดโอกาสเกิดพังผืดหลังการผ่าตัดได้ดีขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ใช้เวลานอนโรงพยาบาลน้อยวันกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องในสมัยก่อน
อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด ดังนั้น การตรวจภายในประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวนด์ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพบรอยโรคได้เร็วขึ้นและปลอดภัยขึ้นกว่าการทนทรมานอยู่กับอาการปวดนั้น