กรมอนามัยเปิดตัว TEEN CLUB สื่อสารเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์

06 พ.ย. 2563 14:45:41จำนวนผู้เข้าชม : 852 ครั้ง

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มเด็กและเยาวชน เปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาที่ถูกต้อง พร้อมขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างต่อเนื่องด้วยการมอบบริการคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดฟรีที่สถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมสามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง เพื่อปกป้องเยาวชนไทยให้มีอนาคตที่สดใส
          จากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า สถานการณ์ด้านประชากรของไทยนั้นมีปัญหาหลักๆ อยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือปัญหาการเกิดน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในงานวางแผนครอบครัว และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยคนรุ่นใหม่นิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น และความนิยมในการมีบุตรลดลง ส่งผลให้อัตราการเพิ่มของประชากรลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ในปี 2562 โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 – 49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.54 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิดมีเพียง 10.5 ต่อประชากรพันคน (มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562)
          ปัญหาส่วนที่ 2 คือปัญหาการเกิดที่ไม่พร้อมและด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ส่วนวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน ในปีเดียวกันนั้น มีจำนวนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรทั้งหมด 63,831 คน แบ่งเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651 คน และต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 คน และยังพบว่ามีผู้หญิงที่อายุต่ำว่า 20 ปีที่มีการตั้งครรภ์ซ้ำและให้กำเนิดบุตรอีกถึง 5,222 คน (สำนักอนามัยเจริญพันธุ์, 2562)
          จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560 - 2569) ส่งผลให้หน่วยบริการมีการจัดบริการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น โดยจากการประเมินการจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ของโรงพยาบาลภาครัฐในประเทศไทย พ.ศ.2562 พบว่ามีโรงพยาบาลจัดบริการใส่ห่วงอนามัยชนิดทองแดงเพิ่มเป็นร้อยละ 76.2 จัดบริการฝังยาคุมกำเนิดชนิด 1 หลอดและ 2 หลอดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.5 และ 22.3 ตามลำดับ (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2562)
          อย่างไรก็ตามวัยรุ่นไทยจำนวนมากยังขาดการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสิทธิในการรับบริการทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการคุมกำเนิด ซึ่งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่า ทางเลือกแรกสำหรับวัยรุ่นในการคุมกำเนิดควรจะเป็นการคุมกำเนิดประเภทกึ่งถาวรร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยเนื่องจากสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลานาน 3, 5 และ10 ปี และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นไทย
          กรมอนามัยจึงได้เปิดตัว Line Official Account TEEN CLUB เพื่อเป็นช่องทางให้คนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่น ได้เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ การคุมกำเนิด สิทธิและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับวัยรุ่น โดย TEEN CLUB จะเป็นศูนย์กลางความรู้ต่างๆ ที่วัยรุ่นมักมีข้อสงสัยแต่อาจจะไม่กล้าถามใคร ทั้งในรูปแบบบทความและวิดีโอ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เช็กสิทธิในการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิด ค้นหาสถานบริการที่ให้บริการคุมกำเนิด มีฟีเจอร์บันทึกประจำเดือนช่วยเช็กการมาของรอบเดือน และยังมีบริการสายด่วน 1663 และ Chat Bot ตอบคำถามเพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะ ผู้สนใจสามารถแอดไลน์TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club หรือ QR Code ด้านล่าง
          นอกจากการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว กรมอนามัยยังร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นด้วยการสนับสนุนค่าบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดแก่วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า20ปีทุกกรณี และในหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยให้กับสถานบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

          นพ.มนัส รามเกียรติศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “กรมอนามัยมีความพยายามในการดำเนินงานทั้งในแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เรามีนโยบายมอบบริการการคุมกำเนิดฟรีเพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นและสตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสามารถเข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมกันนี้ เรายังสร้างเกราะป้องกันวัยรุ่นไทยด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิด เราอยากสนับสนุนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง และมีทัศนคติที่ดีในประเด็นการคุมกำเนิดและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
          เพราะการคุมกำเนิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการป้องกันตัวเองและป้องกันปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต การดำเนินงานตามนโยบายนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการประชุมระหว่างประเทศเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ ICPD – The International Conference in Population and Development และเรื่องสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 3.7.1 ที่มุ่งเน้นให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีความต้องการเรื่องการวางแผนครอบครัวพอใจกับการคุมกำเนิดสมัยใหม่ด้วย”
          ปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำลายอนาคตที่สดใสของวัยรุ่นไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งยังส่งผลกระทบในเชิงลบไปยังสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม การให้ความสำคัญกับเยาวชน ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจและการให้บริการด้านการคุมกำเนิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคมว่าการคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นเดียวกัน