องค์การเภสัชกรรมเดินหน้าปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดในโรงเรือน และกลางแจ้งพร้อมพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับประเทศไทย

09 พ.ย. 2563 13:56:49จำนวนผู้เข้าชม : 915 ครั้ง

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พัฒนาการเพาะปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ในโรงเรือน (Greenhouse) และกลางแจ้ง (Outdoor) ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ให้ได้ผลผลิตจากกัญชาหลากหลายสายพันธุ์ที่สร้างสารสำคัญสูง ทั้ง CBD เด่น, THC เด่น, CBD : THC (1:1) รวมทั้งสายพันธุ์ไทย พร้อมทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับประเทศไทย ช่วยผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาเพิ่มขึ้น
          วันที่ 8 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse)” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมในพิธี


 

          นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและมีความตั้งใจจริงที่จะให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์มีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและปลอดภัย โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ (1) ผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา เช่น ผลิตภัณฑ์ CBD เด่น ผลิตภัณฑ์ THC เด่น ผลิตภัณฑ์ THC : CBD 1 : 1 ของ อภ. (2) ผลิตภัณฑ์ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม และ (3) ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้าน
          รองนายกฯ และรมว. สธ. กล่าวต่อว่า การปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือนมาตรฐานเมดิคัลเกรด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ของ อภ. นี้ เป็นการกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งจะต้องดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกกัญชาให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด ปราศจากสารพิษ สารเคมี การแปรรูป การสกัด และการผลิตเป็นยา โดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เพียงพอกับความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และลดต้นทุนต่อหน่วยให้มีราคาถูกลง รวมทั้งการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการเก็บข้อมูลการรักษาเพื่อนำไปศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มขึ้น จึงขอให้สถานพยาบาลนำผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้มาตรฐานไปใช้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้น และให้ประเทศไทยมีข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐาน มีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเอง เป็นทางเลือกในการนำยาจากกัญชาไปใช้ในการรักษาโรคหรืออาการของโรคต่าง ๆ

          นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้โครงการสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ของ อภ. อยู่ในระยะที่ 2 เพื่อขยายกำลังการผลิต ทั้งด้านการเพาะปลูกและด้านการสกัดให้เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยขยายพื้นที่การเพาะปลูกแบบ Indoor เพิ่มอีก 1,700 ตารางเมตร ด้วยระบบน้ำหยด (Drip irrigation system) อยู่ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งระบบเพาะปลูก โดยมีคณะผู้สังเกตการณ์จากโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ และมีการขยายกำลังการผลิตสารสกัดเบื้องต้น สามารถรองรับการผลิตสารสกัดประมาณ 800 กิโลกรัมต่อปี สามารถผลิตยาจากสารสกัดกัญชาประมาณ 8,000 ลิตร ที่ฝ่ายเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม คลอง 10 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ ได้สร้างโรงเรือนพร้อมติดตั้งเทคโนโลยีระบบการเพาะปลูกอีก 4 โรงเรือน 3 ระบบ ที่มีการสร้างสภาวะการปลูกที่แตกต่างกัน และปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) บนพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม  อำเภอหนองใหญ่ จ.ชลบุรี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต

          ในระยะต่อไปจะผลิตในระดับอุตสาหกรรม ขยายการปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตสารสกัดให้มากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ครีม แผ่นแปะ ยาเหน็บ แคปซูลเจล เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาในรูปแบบต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยได้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย
          สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับการวิจัยและพัฒนา ได้ดำเนินการวิจัยและผลิตดอกกัญชาและผลิตยาจากสารสกัดกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual drop) โดยปลูกแบบ Indoor ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ บนพื้นที่ 100 ตารางเมตรขององค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เริ่มปลูกตั้งแต่เดือน ก.พ. 2562 นับเป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายต้นแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเพาะปลูกและผลิตเป็นยาจากสารสกัดกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual drop ) และกระจายให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ไปแล้วจำนวน 3 รอบการเพาะปลูก มี 3 สูตร ได้แก่ สูตร THC:CBD 1:1 ใช้ในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือใช้ตามแพทย์สั่ง สูตร CBD ใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา หรือใช้ตามแพทย์สั่ง และสูตร THC เด่น ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร (ใน 1 หยด ประกอบด้วย THC 0.5 มิลลิกรัม) ซึ่งผลการศึกษาการนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับ เจ็บปวดน้อยลง การชักเกร็งลดลง ลดการอาเจียน

          ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือนและกลางแจ้งบนพื้นที่ อ.หนองใหญ่ จ. ชลบุรี นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 โดยเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้ง CBD เด่น, THC เด่น, CBD : THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย ดำเนินการปลูกในโรงเรือน 3 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ (Pad and fan) จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ( Hybrid air conditioner and dehumidifier, HAC) 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ดี รวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด botrytis และราแป้ง โดยระบบ HAC มีการทำงานผสมผสานระหว่าง compressor ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้ง air conditioner อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19 % เมื่อเทียบกับการติดตั้ง air conditioner และระบบควบคุมความชื้น (Dehumidifier) ที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ (Open air) จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิด มีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่ เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือน และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้งเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาควบคู่กันไปในพื้นที่บริเวณเดียวกัน


 

“การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องคฺการเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง รวมทั้งช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป”