เตือนแพทย์จัดการทุพโภชนาการในคนอ้วน

09 พ.ย. 2563 14:31:24จำนวนผู้เข้าชม : 880 ครั้ง
James Kingsland, MedicalNewsToday

การศึกษาพบว่าทุพโภชนาการเป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการที่การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลงอย่างกะทันหันและทำให้เกิดเจ็บหน้าอกหรือหัวใจวายได้ โดยมีการเรียกร้องให้แพทย์แก้ปัญหาทุพโภชนาการในผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพื่อช่วยป้องกันการเสียชีวิตจากปัญหาหัวใจและหลอดเลือดก่อนเวลาอันควร
          คณะผู้วิจัยที่ University Hospital Álvaro Cunqueiro ในเมืองบิโก ประเทศสเปน พบว่าภาวะทุพโภชนาการในแต่ละบุคคลเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตทุกสาเหตุและปัญหาของหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย
          ที่น่าแปลกใจคือ นักวิจัยพบว่าภาวะทุพโภชนาการเป็นสถานการณ์ที่เกิดได้ทั่วไป แม้แต่ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
          มีการเผยแพร่ผลการศึกษานี้ใน Journal of the American College of Cardiologyและในบทบรรณาธิการท้ายรายงาน นักหทัยวิทยา 2 ท่านได้เขียนว่า โดยทั่วไปแพทย์รับรู้ว่าทุพโภชนาการเป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบเฉพาะต่อผู้ที่ขาดสารอาหาร หรืออีกนัยหนึ่งผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เท่านั้น
          แต่ในความเป็นจริง ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมักจะมีภาวะทุพโภชนาการ อันเป็นผลจากการรับประทานสารอาหารรอง (micronutrients) น้อยและการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพต่ำ
          “ภาวะทุพโภชนาการเป็นภาวะที่ไม่ค่อยมีใครสนใจและขาดการรักษาที่เพียงพอในผู้ป่วยซึ่งมีดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมักจะเข้าใจผิดว่ารอบหน้าท้องที่เพิ่มขึ้นเป็นภาวะโภชนาการเกินไม่ใช่ภาวะโภชนาการต่ำ” Dr.Andrew Freeman ผู้อำนวยการหน่วยการป้องกันหลอดเลือดและหัวใจกับภาวะสุขภาพที่ดีแห่ง National Jewish Health ในเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา กล่าว
          Dr. Freeman ร่วมเขียนบทบรรณาธิการกับ Dr. Monica Aggarwalเขาเป็นรองศาสตราจารย์สาขาแพทย์ศาสตร์ที่ University of Florida ใน Gainesville
          “มีความจำเป็นต้องขจัดความคิดที่ว่า น้ำหนักมีสหสัมพันธ์กับคุณภาพของอาหารและ (ผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน) ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ” Dr. Freeman กล่าว
          องค์การอนามัยโลกประเมินว่าผู้ใหญ่ 462 ล้านคนมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ทั่วโลก ในขณะที่อีก 1.9 พันล้านคนมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า คำว่าทุพโภชนาการสามารถใช้ได้กับทั้ง 2 กลุ่ม
          คณะผู้วิจัยในสเปนดำเนินการวิเคราะห์แบบมองไปข้างหลังซึ่งครอบคลุมผู้ป่วย 5,062 คนที่พักรักษาตัวใน University Hospital of Vigo ด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
          นักวิจัยได้คำนวณดัชนีมวลกายของแต่ละคนและให้คะแนนสถานะโภชนาการโดยใช้มาตรวัดมาตรฐาน 3 มาตรวัด คือ (1)Controlling Nutritional Status score (2) Nutritional Risk Index และ (3) Prognostic Nutritional Index
          มาตรวัดดังกล่าวใช้ส่วนผสมของค่าที่แตกต่างกัน เช่น ดัชนีมวลกายกับระดับอัลบูมินในเลือด, เม็ดเลือดขาว และโคเลสเตอรอล ในการประเมินคุณภาพของโภชนาการที่แต่ละบุคคลได้รับ
          จากมาตรวัดทั้ง 3 พบว่า ระหว่างร้อยละ 8.9 และ 39.5 ของผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดมีภาวะทุพโภชนาการระดับปานกลางหรือรุนแรง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละมาตรวัดแม้ผู้ที่ดัชนีมวลกายบ่งบอกว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์จะมีโอกาสมากที่สุดที่จะมีภาวะทุพโภชนาการระดับปานกลางหรือรุนแรง แต่พบว่าร้อยละ 8.4 และ 36.7 ของผู้ที่ดัชนีมวลกายแสดงว่ามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
          ระหว่างช่วงการติดตามเป็นเวลาเฉลี่ย (มัธยฐาน) 3.6 ปี พบว่าร้อยละ 20.7 ของผู้เข้าร่วมการศึกษาเกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือดรุนแรง และร้อยละ 16.4 ของผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิต
          งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้เชื่อมความสัมพันธ์ของภาวะโภชนาการต่ำกับภาวะสุขภาพที่รุนแรง ซึ่งรวมทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ
          “มีความจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องได้รับการประเมินทางโภชนาการและการแนะนำให้รับคำปรึกษาและทรัพยากรต่างๆ เพื่อรับรองว่าพวกเขาได้รับโภชนาการที่ถูกต้องเพียงพอที่จะให้พลังงานกับร่างกายได้” Dr.Freemanกล่าว
          “การพูดสนับสนุนด้วยวลีธรรมดาๆ เช่น “ให้แน่ใจว่าออกกำลังกายและกินถูกต้อง” แค่นี้ไม่พอหรอก” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “แพทย์ควรรอบรู้ในรูปแบบของอาหารที่ช่วยลดหรือฟื้นคืนอาการโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งข้อแนะนำในการออกกำลังกายและการดูแลตัวเอง เช่น การคลายความเครียด การฝึกสติ และการนอนหลับที่มีคุณภาพดี”